ผลกระทบ ของ เหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2554

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2554 วิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งอพยพชาวบ้านในพื้นที่ให้ออกไปอยู่ในที่ปลอดภัย และเตรียมแจ้งความดำเนินคดีกับเรือดังกล่าว จากการทำตลิ่งพัง โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ. 2553 ได้เคยเกิดเหตุเรือพ่วงบรรทุกข้าวสารจมหนึ่งลำ และเรือพ่วงที่เหลือพุ่งเข้าชนตลาดน้ำวัดท่าการ้อง[4] เมื่อเวลา 13.00 น. พบสัตว์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาโผล่หัวขึ้นมาหายใจเป็นจำนวนมาก และบางตัวเริ่มลอยตาย ด้านนัทธี บ่อสุวรรณ นายอำเภอบางปะอิน เปิดเผยว่าจุดที่สัตว์น้ำเริ่มตายนั้นอยู่ห่างจากจุดที่เรือล่ม 30 กิโลเมตร[5] ด้านกรมควบคุมมลพิษเข้าตรวจสอบคุณภาพน้ำ พบว่า ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (DO) ในอำเภอบางไทรลดลงจาก 3.8 มิลลิกรัมต่อลิตร เหลือ 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร และอำเภอเมืองปทุมธานี ลดลงจาก 3.8 มิลลิกรัมต่อลิตร เหลือ 2.8 มิลลิกรัมต่อลิตร[6] ด้านกรมประมงแจ้งว่า ให้ผู้เลี้ยงปลากระชังในเขตแม่น้ำเจ้าพระยาย้ายหรือจับปลาขาย จากน้ำเสียที่เกิดขึ้นซึ่งเคลื่อนตัวลงมาด้วยอัตราเร็ว 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที[7]

วันที่ 2 มิถุนายน ชาวบ้านอำเภอพระนครศรีอยุธยาได้ตอกเสาเข็มด้วยไม้ยูคาลิปตัสริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันมิให้ตลิ่งพังทลายเพิ่มเติม[8] ด้านค่าเสียหายนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาได้เชิญเจ้าของเรือบรรทุกน้ำตาลมาหารือเรื่องค่าเสียหาย โดยเป็นค่าบ้านสองหลัง 2.7 แสนบาท และค่าที่ดินพังทลายเสียหาย 1.5 แสนบาท และทางจังหวัดได้ประกาศให้จังหวัดเป็นเขตภัยพิบัติแล้ว[9] การประปานครหลวงแจ้งว่าทางสถานีสูบน้ำดิบที่จังหวัดปทุมธานีได้มีการเตรียมเครื่องเติมอากาศ ตลอดจนระบบผลิตน้ำและสารเคมี และน้ำเสียไม่มีผลต่อการผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง[10] ในวันเดียวกัน ผลการตรวจค่า DO พบว่าเพิ่มขึ้นจาก 0.5 เป็น 1.9 มิลลิกรัมต่อลิตร จากปริมาณที่ปล่อยลงมาตามแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณ 1,100-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที คาดว่าคุณภาพน้ำจะดีขึ้นภายใน 2-3 วัน[11]

ต่อมา วันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2554 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีพระราชทานเครื่องกลเติมอากาศของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสีย[12] ด้านประมงจังหวัดปทุมธานีได้เข้าแจ้งความให้ดำเนินคดีกับบริษัทไทยรวมทุนอ่างทอง จำกัด และไทยมารีน ซัพพลาย จำกัด ในความผิดตามมาตรา 19 ของพระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม[13]

วันที่ 4 มิถุนายน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าชาวบ้านที่จับสัตว์น้ำที่ยังมีชีวิตอยู่มาบริโภคไม่เป็นอันตราย แต่ไม่ควรบริโภคหากไม่มั่นใจว่าปลานั้นไม่ติดโรคและตายจากสาเหตุอื่น เพราะอาจทำให้รับเชื้อโรคเข้าไปได้[14]

วันที่ 6 มิถุนายน ผลกระทบจากเรือบรรทุกน้ำตาลล่มส่งผลกระทบต่อปากแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว โดยวัดค่า DO ในแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งบางกระเจ้า อำเภอพระปะแดง บางจุดที่ตรวจวัดมีค่า DO ต่ำเพียง 0.6 เท่านั้น และได้รับแจ้งปลาลอยตายในพื้นที่บางกระเจ้าและใกล้เคียงด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าปริมาณน้ำเสียที่มีน้ำตาลผสมอยู่ส่วนใหญ่ไหลลงสู่ทะเลเกือบหมดแล้ว และเหลือน้ำเสียเจือจางอีกส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ[15] ส่วนอธิบดีกรมควบคุมมลพิษระบุว่า ค่า DO ในแม่น้ำเจ้าพระยาดีขึ้นตามลำดับ โดยที่อำเภอบางไทรวัดได้ 4.3[16]

วันที่ 7 มิถุนายน พบปลากระเบนราหูตายแล้ว 5 ตัว โดยดร.นุกูล แสงพันธ์ นักวิชาการสัตว์น้ำจืด แผนกวิชาประมง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี ระบุว่าปลาดังกล่าวเป็นปลาที่สามารถปรับตัวได้ดี และการที่ปลาตายนั้นแสดงให้เห็นถึงความล่าช้าในการแก้ไขสถานการณ์[17]

วันที่ 8 มิถุนายน อธิบดีกรมประมงคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากจุดที่เรือล่มจนถึงปากอ่าวไทยรวมระยะทาง 140 กิโลเมตรนั้น จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท และสำรวจพบปลาตายแล้วกว่า 80 ตัน[18]

การกู้เรือ

สำหรับการกู้เรือบรรทุกน้ำตาลนั้น เจ้าของเรือใช้วิธีการนำเรือมาเทียบแล้วสูบน้ำจากเรือน้ำตาลที่ล่มใส่เรือที่นำมาเทียบในการกู้เรือ แต่วิธีการดังกล่าวจะทำให้การกู้เรือล่าช้า[19] ต่อมา เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เจ้าหน้าที่ช่วยคนที่อยู่ในเรือลำดังกล่าวได้ 2 คน ส่วนธวัช เภาวิลัย เจ้าของเรือยนต์ธวัชวารินทร์ ลำที่จมนั้น ยังหาตัวไม่พบ คาดว่าอาจหายไปกับกระแสน้ำ ในเวลาเดียวกัน เรือที่จะใช้ลากจูงเรือบรรทุกน้ำตาลที่ล่มนั้น เกิดพลิกคว่ำห่างจากจุดที่เรือบรรทุกน้ำตาลล่มเพียง 20 เมตรเท่านั้น[20] ด้านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในณะที่ลงพื้นที่เมื่อวันที่ 3 มิถุนายนว่า การกู้ซากเรือจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเล็กน้อย เนื่องจากกระแสน้ำยังพัดแรง[21] อย่างไรก็ตาม โพสต์ทูเดย์รายงานว่า ตัวแทนกลุ่มธุรกิจเจ้าของเรือและเจ้าของน้ำตาลไม่ยอมให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลและแก้ไขปัญหา ทั้งยังประวิงเวลาในการกู้เรือออกไป พร้อมกันนั้นตัวแทนกลุ่มธุรกิจดังกล่าวยังได้ประกาศว่าจะเดินเรือผ่านจุดดังกล่าวโดยไม่สนใจประกาศห้ามของกรมเจ้าท่า[22]

เรือลากที่พยายามกู้เรือบรรทุกน้ำตาลเกิดล่มซ้ำอีกในวันที่ 3 มิถุนายน ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตไป 2 คน[23] [24]ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่สูบน้ำตาลในท้องเรือออกจนเหลือเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น[25] ในวันที่ 4 มิถุนายน ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยากล่าวว่าได้ถ่ายน้ำตาลออกจากเรือที่ล่มหมดแล้ว[26]

ปฏิบัติการกู้เรือถูกเลื่อนออกไปหลายวัน จนกระทั่งเริ่มขึ้นอีกครั้งในวันที่ 11 มิถุนายน โดยจะใช้วิธีการสอดพอนทูนหรือโป๊ะลอยน้ำเข้าใต้เรือจำนวน 2 ตัวเพื่อยกเรือให้ลอยขึ้น แต่ด้วยกระแสน้ำที่ไหลแรงจึงต้องเปลี่ยนไปใช้การนำบอลลูนอีก 4 ตัวมาช่วยเสริมใต้ท้องพอนทูนในการพยุงเรือก่อนจากลากเรือออกไปบริเวณอื่น[27]

ต่อมา เจ้าหน้าที่สามารถกู้เรือบรรทุกน้ำตาลได้สำเร็จเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2554[28]

ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

กรมเจ้าท่าสั่งห้ามเรือสินค้าทุกชนิดแล่นผ่านจุดเกิดเหตุ ทำให้เรือหลายร้อยลำต้องจอดนิ่งในบริเวณจังหวัดอ่างทอง ไม่สามารถนำสินค้าเดินทางไปได้[21] ด้านวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่ากรณีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบให้น้ำตาลทรายที่บริโภคในประเทศขาดแคลน เนื่องจากประเทศสามารถผลิตน้ำตาลทรายได้เพิ่มขึ้น และน้ำตาลทรายที่ได้รับความเสียหายนี้ยังคิดเป็นปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตทั้งหมด[29] ด้านสมหญิง เปี่ยมสมบูรณ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า คาดว่าความเสียหายเบื้องต้นน่าจะคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 5 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับผลกระทบ[30] ทางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเตรียมชดเชยค่าเสียหายแก่บ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายหลังละ 2,000 บาท[25] ต่อมา ทางอธิบดีกรมเจ้าท่าอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าไปยังต่างประเทศสามารถแล่นผ่านได้ตามปกติ แต่ต้องพ่วงเรือไม่เกินสองลำ และมีเรือยนต์โยงหัวท้าย[25]

มาตรการการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ

ด้านกระทรวงอุตสาหกรรมได้สั่งให้มีการพิจารณากำหนดมาตรการขนส่งน้ำตาลทรายทางเรือ เช่น อาจต้องมีการตรวจสอบสภาพเรือ สภาพน้ำ น้ำหนักบรรทุก อุปกรณ์บังคับเรือ ทั้งมีการประกันความรับผิดชอบค่าเสียหาย เป็นต้น[31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: เหตุเรือบรรทุกน้ำตาลล่มในแม่น้ำเจ้าพระยา พ.ศ. 2554 http://daily.bangkokbiznews.com/detail/8655 http://www.krobkruakao.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%...